2020 remark: This article was first published in 2010 under the name Musical Injuries.
This articles was written in Thai. In case that you interest in this article, I will translate it into English in the future.
เสียงดนตรีอันนำมาซึ่งความเจ็บปวด
การเล่นดนตรี บางครั้งอาจเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่าที่คนทั่วๆไปคิดกันไว้ นั่นเพราะการที่จะเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือได้ จำเป็นต้องอาศัยการฝึกซ้อมเป็นอย่างมาก หากแต่ว่าการฝึกซ้อมที่มากเกินไปนั้นอาจกลับกลายเป็นการก่อผลร้ายต่อร่างกายของนักดนตรีเองได้ นี่นับเป็นประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นแล้วกับตัวของข้าพเจ้าเอง ในการซ้อมคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งของข้าพเจ้าซึ่งต้องเล่นบทเพลงอันจัดว่ายากเกินกว่าฝีมือของข้าพเจ้าในขณะนั้น การฝึกซ้อมอย่างหนักจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม ผลของการฝึกซ้อมที่มากเกินไปนั้นกลับทำให้นิ้วมือและข้อมือของข้าพเจ้าค่อยๆเสียหายเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จนกลายเป็นเจ็บปวดแสนสาหัสในปัจจุบัน
หลายๆคนอาจเคยรู้สึกได้ในขณะการฝึกซ้อมดนตรี ไม่ว่าจะเป็นนักเปียโนหรือผู้เล่นเครื่องสายก็ตาม (ตัวข้าพเจ้าเองไม่มีความรู้และสามารถในเครื่องเป่าทุกชนิด จึงไม่อาจกล่าวถึง ณ ที่นี้ได้) ว่าระหว่างการฝึกซ้อม เกิดอาการปวดเมื่อยหรือเหน็บชาตามส่วนต่างๆของร่างกายขึ้นมา เช่น มือ หรือ ต้นแขน ในบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นต้องตื่นนอนขึ้นมากลางดึกด้วยอาการปวดแขน ปวดหลัง หรือ ปวดคอ เป็นต้น หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องอดทนรับเพื่อจะได้เป็นนักดนตรีที่ดี แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เราจะหยุดฝึกซ้อมไม่ได้! มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอ
ในความเป็นจริงแล้ว นักดนตรีนับได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ (Repetitive Motion Injuries) มีนักดนตรีจำนวนมากที่เกิดอาการบาดเจ็บทางกายภาพอันเนื่องมาจากการเล่นเครื่องดนตรีของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนักดนตรีเหล่านั้นเป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ด้วยแล้ว ความเสี่ยงของพวกเขาจะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ผู้เขียนบทความซึ่งข้าพเจ้าใช้ในการอ้างอิงนี้เองก็มีอาการบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการใช้คอมพิวเตอร์และการฝึกซ้อมไวโอลินเช่นกัน เขากล่าวว่าอาการบาดเจ็บอันเกิดขึ้นกับเขานั้น อาการดีขึ้นหลังจากเขายุติการฝึกซ้อมทุกอย่างเป็นเวลาหลายเดือน เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี่เองที่เกิดขึ้นกับตัวข้าพเจ้า ซึ่งเป็นที่ค่อนข้างแน่ใจว่าการใช้คอมพิวเตอร์อย่างหนักร่วมกับการฝึกฝนดับเบิลเบสอย่างหนัก เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่เอ็นนิ้วมือข้างซ้ายของข้าพเจ้าในปัจจุบัน อย่างที่หลายๆคนทราบว่าข้าพเจ้าได้ฝึกซ้อมอย่างหนักในช่วงเดือน มิถุนายน ถึง กันยายน เพื่อเล่นบทเพลงบทหนึ่งซึ่งจัดว่ายากเกินระดับฝีมือของข้าพเจ้าในขณะนั้นไปมาก ประกอบกับการรับจ้างออกงานแสดงต่างๆบ่อยครั้ง จนบางครั้งถึงกับเดินสายถึงสามงานในหนึ่งวัน ทำให้ร่างกายข้าพเจ้าในเวลานั้นไม่มีเวลาฟื้นตัว และเกิดอาการบาดเจ็บดังกล่าวขึ้น แม้ว่าจะได้พักฟื้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง หากแต่ความจำเป็นที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้อาการบาดเจ็บนี้ไม่สามารถหายสนิทได้ และจะกลับมากำเริบขึ้นอีกทุกครั้งที่มีการฝึกซ้อมอย่างหนัก ในปัจจุบันเอ็นนิ้วกลางข้างซ้าย เอ็นนิ้วก้อยข้างซ้าย รวมถึงข้อมือซ้ายของข้าพเจ้ามีอาการอักเสบ จนแทบจะเรียกได้ว่าเจ็บปวดทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวเป็นมุมกว้างเลยทีเดียว ผลจากการปรึกษากับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ความเห็นตรงกันว่าอาการนี้จะทุเลาลงได้จากการหยุดพักเท่านั้น และมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเรื้อรังโดยไม่มีทางหายได้สนิท
เรื่องราวที่ข้าพเจ้าได้เล่าถึงมาข้างต้นนั้น เป็นเรื่องประสบการณ์ของตัวข้าพเจ้าเองซึ่งเล่าไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่เพื่อนๆผู้รักในเสียงดนตรีคนอื่นๆ ถึงภัยและความเสี่ยงอันเกิดจากการฝึกซ้อมผิดวิธี ส่วนต่อๆไปของบทความนี้เป็นเนื้อหาที่ข้าพเจ้ารวบรวมมาเพื่อเป็นความรู้เกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเล่นดนตรีเหล่านี้ โดยหวังว่าจะช่วยทำให้คนที่ต้องพบกับประสบการณ์เลวร้ายเช่นนี้มีจำนวนลดลง
อาการบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการเล่นดนตรี
อาการบาดเจ็บที่เกิดจากการเล่นดนตรี เป็นอาการบาดเจ็บชนิดเดียวกับเกิดขึ้นจากการใช้งานคอมพิวเตอร์เกินขนาด (Computer Overuse) อาการบาดเจ็บชนิดนี้เกิดขึ้นจากการเกร็งกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นเวลานานๆ (RSI: Repetitve Strain Injury)
ตัวอย่างของอาการบาดเจ็บนี้ที่พบได้บ่อยได้แก่
- Carpal Tunnel Syndrome อาการเหน็บชาที่เกิดขึ้นที่บริเวณข้อมือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง
- Tendinitis/Bursitis อาการเส้นเอ็นอักเสบ
- Quervain’s Tenosynovitis อาการเจ็บบริเวณแขนท่อนล่างถึงข้อมือ
- Tendinosis
- Thoracic Outlet Syndrome
- Myofascial Pain
- Cubital Tunnel Syndrome
อาการเจ็บปวดที่กล่าวถึงมาข้างต้น เป็นอาการที่มักพบได้บ่อยในกลุ่มผู้เล่นคีย์บอร์ด,เครื่องลมไม้, และเครื่องสาย อย่างไรก็ตาม ในแต่ละเครื่องดนตรีอาจมีอาการบาดเจ็บเฉพาะอันเนื่องมาจากวิธีเล่นเฉพาะของเครื่องนั้นๆ แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
สาเหตุหลักของการเกิดอาการบาดเจ็บเหล่านี้ ได้แก่ การเล่นด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง,เทคนิคการเล่นที่ไม่เหมาะสม, ใช้แรงมากเกินไป, ซ้อมมากเกินไป, อาการเกร็ง, และการพักผ่อนไม่เพียงพอ และให้ผลลัพท์อันนำมาซึ่งการบาดเจ็บ ทรมาน พิการ และถึงจุดจบของอาชีพในท้ายที่สุด
ข้อพึงกระทำ ไว้ให้ จดจำ
แม้ว่าอาการบาดเจ็บอันเกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมและเล่นดนตรีที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นอาการที่พบได้โดยทั่วไป แต่ก็ใช่ว่าอาการบาดเจ็บดังกล่าวจะป้องกันไม่ได้ เนื้อหาต่อไปข้างล่างนี้คือหลักปฏิบัติซึ่งนักดนตรีทุกคนควรจดจำและพึงกระทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บเหล่านี้ขึ้น จำไว้ว่า กันไว้ดีกว่าแก้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันอาจไม่มีวันแก้ไขให้เหมือนเดิมได้
- อ่านเนื้อหาต่อไปนี้ให้เข้าใจ เรื่องราวเหล่านี้สำคัญมากต่อชีวิตนักดนตรีของทุกคน หากแต่สาเหตุและวิธีป้องกันโดยละเอียดนั้นเข้าใจได้ลำบาก ข้อต่อๆไปนี้เป็นข้อสรุปที่สามารถเข้าใจและปฏิบัติตามได้โดยง่าย
- ประเมินเทคนิคของคุณ โดยหลักการทั่วๆไปแล้ว เทคนิคต่างๆที่ใช้ในการเล่นดนตรีจะต้องลดแรงกระทำที่มีต่อร่างกาย (นั่นคือไม่มีเทคนิคใดแนะนำให้เอาแรงเข้าแลก) ให้หาท่าทางที่สามารถเล่นได้สบายที่สุด, ให้ข้อต่ออยู่ ณ จุดกึ่งกลางของการเคลื่อนไหวให้มากที่สุด, และพยายามใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้ร่างกายเกร็งหรือไม่เป็นธรรมชาติ
- วอร์มอัพก่อนเล่นเสมอ เช่นเดียวกับที่นักกีฬาทุกคนจำเป็นต้องวอร์มอัพร่างกายก่อนเริ่มเล่นกีฬา และคูลดาวน์หลังเลิกเล่นเสมอ เพราะพวกเขารู้ว่าหากไม่ทำเช่นนั้นจะนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บของร่างกาย นักดนตรีซึ่งต้องการการใช้งานร่างกายแทบทุกส่วนในระดับละเอียดอ่อนจึงพึงกระทำในสิ่งเดียวกันนี้ วอร์มอัพก่อนเริ่มต้นฝึกซ้อมและเริ่มการแสดงเสมอ
- หมั่นหยุดพักอย่างสม่ำเสมอ การหยุดพักนี้หมายถึงการหยุดพักช่วงสั้นๆบ่อยๆ ในระหว่างการฝึกซ้อม และหยุดพักยาวขึ้นในทุกๆชั่วโมงของการฝึกซ้อม ข้อนี้นับได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและพึงกระทำที่สุดในทุกๆข้อที่กล่าวไว้ การสร้างภาระให้ร่างกายอย่างต่อเนื่อง ทั้งความตึงเครียด การเกร็ง ฯลฯ โดยไม่มีการหยุดพักทำให้ร่างกายไม่มีโอกาสที่จะกำจัดของเสียจากกระบวนการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นในเซลล์และเนื้อเยื่อ (Metabolic Waste) ดังนั้นแม้อยู่ระหว่างการเล่นบทเพลงยาวๆก็ควรต้องมีการหยุดพักสักเล็กน้อยเสมอ การฝึกซ้อมแบบมาราธอนที่นักดนตรีหลายๆคนภาคภูมิใจนั้นแท้จริงแล้วคือสิ่งที่สร้างความเสียหายให้ร่างกายมากที่สุด การวิจัยกับนักกีฬาพบว่าการฝึกซ้อมที่มากเกินไปนั้นแท้จริงแล้วจะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของการซ้อมลดลง ลองฝึกซ้อมเป็นช่วงสั้นๆ สองครั้งในหนึ่งวัน แทนที่จะฝึกซ้อมยาวๆแค่ครั้งเดียวจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาก ทั้งต่อฝีมือและต่อร่างกาย
- รู้จักตนเอง บ่อยครั้งที่นักดนตรีจะสังเกตเห็นอาการบาดเจ็บของตัวเองระหว่าง
- อยู่ในระหว่างฝึกฝนเพื่อคอนเสิร์ต หรือ Recital
- ขณะอยู่ใน Music Camp
- เล่นดนตรีในหลายงานหรือกับหลายวงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในช่วงเวลาเหล่านี้ เรามักจะต้องการเวลาฝึกซ้อมมากเป็นพิเศษ จนบางครั้งเกินขีดจำกัดของร่างกาย การรู้จักขีดจำกัดของตนเองและรู้จักปฏิเสธนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ
- ปรึกษาแพทย์ เมื่อเริ่มรู้สึกได้ถึงอาการผิดปรกติใดๆ แม้เพียงเล็กน้อย ให้ปรึกษาแพทย์ทันที อย่างไรก็ตาม แพทย์ส่วนใหญ่จะเข้าใจดีว่าแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสั่งหรือชักจูงให้นักดนตรีพักการฝึกซ้อมเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว หนำซ้ำอาจารย์หลายๆคน ยังสอนให้นักเรียนของตัวมองข้ามความเจ็บปวดเหล่านั้น หรือกล่าวหาว่าเป็นแค่ข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการซ้อม อย่างไรก็ตาม คำกล่าวที่ว่า “No Pain, No Gain” เรียกได้ว่าเป็น หายนะ สำหรับนักดนตรี หากมีอาการบาดเจ็บเมื่อไหร่ให้หยุดพักทันที ระลึกไว้เสมอว่าระหว่างการหยุดเล่นเป็นเวลาหลายเดือน กับการฝืนเล่นจนพิการและไม่อาจได้เล่นอีกเลย สิ่งใดเลวร้ายกว่ากัน
- สำรวจดูกิจกรรมอื่นๆ อาการบาดเจ็บเหล่านี้เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดหรือเกื้อหนุนโดยกิจกรรมอื่นๆที่เรากระทำบ่อยๆ การใช้คอมพิวเตอร์ เป็นสาเหตุที่เด่นชัดที่สุด รวมถึงการเล่นกีฬา, เลี้ยงเด็ก, หรืองานอดิเรกอื่นๆ
- สนใจร่างกายของตนเอง อาการบาดเจ็บเป็นการแสดงออกของร่างกายถึงปัญหาต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้น ให้สนใจแม้แต่อาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในร่างกายเสมอ
- ตรวจดูเครื่องดนตรีของตน สำรวจดูว่าเครื่องดนตรีที่เราใช้อยู่นั้นเหมาะสมกับตัวเราหรือไม่ ขนาดใหญ่เกินไปไหม? ปรับแต่งมาเหมาะสมหรือไม่? ความแตกต่างแม้เพียงเล็กน้อยในระหว่างการเล่นสามารถสร้างความแตกต่าง(หรือแตกสลาย)มหึมาต่อร่างกายได้ในระยะยาว ลองดูว่าต้องใช้แรงมากไปในการเล่นไหม? ถ้าเครื่องดนตรีนั้นใหญ่และหนัก (เช่นเบสที่ข้าพเจ้าเล่น) ลองหารถหรือบางสิ่งที่ช่วยในการขนย้ายมาด้วยได้ไหม? การปรับแต่งใช้งานจริงนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเครื่องดนตรีที่มีขนาดใหญ่
- ระวังในการฝึกฝน เทคนิคในการฝึกฝนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ เช่น Grip หรือ แบบฝึกหัด เช่น Hanon มีความเสี่ยงสูงมาก ห้ามทำการฝึกฝนเหล่านี้เด็ดขาดในระหว่างที่กำลังบาดเจ็บ มันจะช่วยทำให้อาการบาดเจ็บที่มีอยู่นั้นเลวร้ายลง การฝึกฝนแบบฝึกหัดต่างๆในขณะที่ท่าทางไม่เหมาะสม เทคนิคไม่ถูกต้อง หรือใช้แรงมากไป ก็สามารถส่งผลร้ายให้ในระยะยาวเช่นเดียวกัน ในทางตรงข้าม หากเรายังไม่บาดเจ็บ การฝึกฝนเหล่านี้สามารถกระทำได้ โดยต้องใจเย็นค่อยๆฝึกและพัฒนาไปช้าๆอย่างอดทน และไม่หักโหมจนบาดเจ็บในท้ายที่สุด
ข้อควรจำต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่นักดนตรีทุกคนพึงปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับการบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการฝึกซ้อม และ สามารถเล่นดนตรีได้อย่างมีความสุข
ดนตรีเป็นสิ่งที่สวยงาม และสามารถสร้างสรรค์จินตนาการและอารมณ์ต่างๆให้แก่มนุษย์ได้มากมายสุดจะหยั่งถึง อาการบาดเจ็บต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่เนื่องมาจากการฝึกฝนและสร้างสรรค์ดนตรีอย่างเกินกำลังหรือไม่ถูกต้อง หาได้มีสาเหตุมาจากตัวของดนตรีเองแต่อย่างใด ข้าพเจ้าหวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้เหล่าสหายนักดนตรีทั้งหลายของข้าพเจ้า สามารถสร้างสรรค์ดนตรีอันไพเราะงดงามได้อย่างยั่งยืนและมีความสุขตลอดไป
อ้างอิง
- Dorothy Bishop, THE MUSICIAN AS ATHELETE: Alternative Approaches to Healthy Performance
- Nicola Culf , MUSICIANS’ INJURIES: A Guide to their Understanding and Prevention.
- Richard Norris,THE MUSICIAN’S SURVIVAL MANUAL:A Guide to Preventing and Treating Injuries in Instrumentalists.
- Carola Grindea, TENSIONS IN THE PERFORMANCE OF MUSIC
- Peter Murray, ESSENTIAL BASS TECHNIQUE
- Article on Music Injuries – Department of Electrical Engineering , University of Nebraska – Lincoln